กลยุทธ์พัฒนาทักษะด้านการเรียน

ในชวงเปิดภาคเรียนนี้ ผมมีเทคนิคนำมาให้ครูทุกท่านลองนำไปใช้ช่วยลูกศิษย์พัฒนาทักษะในด้านการเรียนของตนเอง โดยคุณครูเริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนตอบคำถามทั้ง 21 ข้อนี้ก่อน เพื่อดูว่าเด็กมีปัญหาด้านการเรียนในเรื่องใด จะได้ให้ข้อแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขต่อไปตามนั้น
ลองให้นักเรียนตอบ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ในคำถามต่อไปนี้
1. ฉันใช้เวลาในการเรียนแต่ละเรื่อง/หัวข้อนานเกินไป
2. ฉันมักจะใช้เวลาตลอดทั้งคืนอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบในวันรุ่งขึ้น
3. ถ้าฉันใช้เวลาในการทำกิจกรรมสังคมเท่าที่ฉันอยากทำ ฉันจะไม่มีเวลามากพอสำหรับการเรียน หรือถ้าฉันใช้เวลาในการเรียนเต็มที่ ฉันจะไม่มีเวลาเหลือสำหรับกิจกรรมทางสังคม
4.เวลาเรียนหรืออ่านหนังสือฉันมักจะเปิดวิทยุหรือโทรทัศน์ไปด้วย
5. ฉันไม่เคยทนเรียนอะไรได้นานๆ โดยไม่รู้สึกเบื่อหรืออ่อนล้า
6. ฉันเข้าเรียนทุกครั้ง แต่ขณะเรียนชอบฟุ้งซ่าน คิดเรื่อยเปื่อย หรือง่วงเหงาหาวนอน
7. ฉันมีปัญหาเมื่อกลับมาอ่านสมุดจดเลกเช่อร์ของตัวเองทีหลังในบางครั้ง
8. ฉันมักจะจับประเด็นผิดๆ จดลงในสมุดเลกเช่อร์ของตัวเองเสมอ
9. ตลอดทั้งเทอมฉันไม่เคยอ่านโน้ตที่จดในเลกเช่อร์จนกว่าจะถึงวันใกล้สอบ
10. เมื่อเรียนมาถึงท้ายบท ฉันจะจำไม่ค่อยได้ว่าอ่านอะไรมาก่อนหน้านั้น
11. ฉันไม่รู้ว่าจะจับประเด็นสำคัญในเรื่องที่อ่านตรงไหนอย่างไร
12. ฉันมักจะอ่านงานที่ครูมอบหมายให้อ่านไม่ทัน ดังนั้นฉันจึงต้องมาตะลุยอ่านในคืนก่อนสอบ
13. ฉันสอบได้คะแนนเรียงความ/อัตนัยไม่ดีทั้งที่ฉันมีข้อมูลความรู้เพียบ
14. ฉันเตรียมตัวสอบมาอย่างดี แต่เมื่อถึงเวลาสอบจริงๆ สมองของฉันกลับว่างเปล่า
15. ฉันมักจะเรียนแบบขอไปที ไม่มีระบบ จนกว่าจะมีการสอบครั้งต่อไป
16. ฉันชอบเก็บแต่รายละเอียดของเรื่องที่อ่าน และมีปัญหากับการจับประเด็นสำคัญของเรื่อง
17. ฉันมักอ่านเนื้อหายากๆ หรือเนื้อหาง่ายๆ ที่คุ้นเคย ด้วยระดับความเร็วในการอ่านที่เท่ากัน
18. ฉันหวังอยู่บ่อยครั้งว่าจะสามารถอ่านหนังสือได้เร็วขึ้น
19. เมื่อครูมอบหมายให้เขียนรายงานฉันจะรู้สึกมึนงง ไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนอย่างไร
20. ฉันมักเขียนรายงานส่งครูก่อนหน้ากำหนดส่ง 1 คืน
21. ฉันไม่สามารถจัดระบบความคิดของตัวเองในรายงานได้
สำหรับคำถามทั้ง 21 ข้อข้างต้นแบ่งเป็นหมวดหมู่ดังนี้คือ

ข้อ 1-3
การจัดการด้านเวลา
ข้อ 4-6 สมาธิในการเรียน
ข้อ 7-9 การฟังและการจดเลกเช่อร์
ข้อ 10-12 และ 16-18 ทักษะด้านการอ่าน
ข้อ 13-15 ความสามารถในการสอบ
ข้อ 19-21 ทักษะด้านการเขียน
หากผู้เรียนตอบคำถามว่า “ใช่” ในแต่ละหมวดมากกว่า 2 ข้อขึ้นไป แสดงว่านักเรียนประสบปัญหาด้านการเรียนในระดับที่ต้องปรับปรุง อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่านักเรียนจะมีปัญหาด้านการเรียนในระดับที่ต่ำกว่านี้ การอ่านข้อแนะนำว่าด้วยเรื่อง “ทักษะในการเรียน” จะช่วยปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพในการเรียนของนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น
ฉบับนี้ขอแนะนำเทคนิคด้าน การจัดการด้านเวลา ก่อน มีข้อแนะนำสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่มีปัญหาในเรื่องดังกล่าวต่อไปนี้คือ
  1. วางแผนการใช้เวลาเรียนให้เพียงพอ
    เวลาเรียนนอกห้องเรียนที่เหมาะสมที่นักเรียนนักศึกษาควรใช้ จะอยู่ที่ประมาณ 2:1 เช่น ถ้าใช้เวลาเรียนในห้อง 1 ชั่วโมง ผู้เรียนก็น่าจะต้องใช้เวลาเรียนนอกห้อง 2 ชั่วโมง ในการศึกษาค้นคว้า เช่น เข้าห้องสมุด เขียนรายงาน ทำการบ้าน ฯลฯ อย่างไรก็ดี สำหรับผู้เรียนที่มีศักยภาพด้านการเรียนรู้ในระดับดี อาจจะใช้เวลานอกห้องเรียนน้อยกว่านี้ก็ได้
  2. ศึกษาค้นคว้าในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน
    หากเป็นไปได้ นักเรียนนักศึกษาควรจะกำหนดในแต่ละวันเลยว่า จะใช้เวลาตอนไหนเรียน หรือศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเคยชินและเป็นระบบ ถ้าผู้เรียนสามารถกำหนดเช่นนี้ได้อย่างน้อย 5 วันในแต่ละสัปดาห์จะทำให้นักเรียนปรับตัวได้ไม่ยาก และช่วยให้มีความพร้อมในการศึกษาเล่าเรียนในเรื่องต่างๆ มากขึ้น
  3. ใช้ช่วงเวลาพักระหว่างชั่วโมงเรียนให้เกิดประโยชน์
    ช่วงเวลาพักของนักเรียนนักศึกษาในระหว่างวันเป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียนน่าจะใช้ประโยชน์ในการทบทวนสิ่งที่เพิ่งเรียนจบไป หรือศึกษาข้อมูลเพื่อเตรียมอภิปรายในวิชาที่จะเรียนต่อไป
  4. จัดให้มีช่วงพักระหว่างเรียน
    การเรียนแต่ละวิชา/คาบ ควรอยู่ในช่วงระหว่าง 50-90 นาที จึงจะได้ผลดีที่สุด โดยแต่ละคาบจัดให้มีช่วงพักประมาณ 10-15 นาที การเรียนหนักจะได้ผลดีต่อเมื่อมีการกำหนดระยะเวลา และมีการหยุดพักเล็กน้อย ข้อนี้เป็นเรื่องที่ครูและโรงเรียนน่าจะนำไปลองพิจารณา

  5. วางแผนทบทวนรายสัปดาห์
    วันหยุดสุดสัปดาห์เป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการทบทวนสิ่งที่ได้เรียนมาตลอดทั้งสัปดาห์ ผู้เรียนควรจัดเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงในวันหยุด (คนละส่วนกับเวลาที่จัดแบ่งสำหรับการเรียนทั่วไป) ในการศึกษาทบทวนบทเรียนที่ผ่านไป
  6. จัดแบ่งเวลาบางส่วนให้ยืดหยุ่นได้
    แม้จะมีการจัดเวลาเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรจัดเวลาให้ตึงแน่นตายตัวเกินไป การจัดเวลาที่ดีควรให้มีความยืดหยุ่นได้บ้างสำหรับเหตุการณ์ที่นอกเหนือความคาดหมาย
  7. จัดเวลาสำหรับกิจกรรมพักผ่อน และกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม
    ก่อนการจัดเวลาเพื่อการศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน ผู้เรียนจะต้องแจกแจงรายการกิจกรรมทางสังคมของตนเองที่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนเสียก่อน (เช่น เด็กบางคนต้องทำงานพิเศษ ทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ ทำงานบ้าน ฯลฯ) แล้วจึงค่อยกำหนดเวลาในการเรียน/ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และอย่าลืมจัดแบ่งเวลาสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจให้กับตนเองด้วย
อาจกล่าวได้ว่าเทคนิคทั้ง 7 ข้อข้างต้นเป็นการจัดแบ่งตารางเวลาแบบระยะยาวในภาพรวม ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำการจัดแบ่งเวลาเรียนย่อยๆ ลงไปเป็นรายสัปดาห์ หรือรายวันด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาทักษะด้านการเรียนอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น
ตารางกำหนดรายสัปดาห์ ให้นักเรียนระบุกิจกรรมหลักต่างๆ รวมถึงปริมาณงานที่ต้องทำใน 1 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมด้านการเรียนเสมอไป เป็นต้นว่า
  • วันอังคาร ทำรายงาน
  • วันอังคารกลางคืน เล่นเกมสนุกๆ ในคอมพิวเตอร์
  • วันพุธ เตรียมตอบคำถาม
  • วันพฤหัสฯ อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ให้ได้ 100 หน้า
  • วันศุกร์ อ่านวิชาภาษาอังกฤษให้ได้ 40 หน้า
ตารางข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆ โดยผู้เรียนแต่ละคนสามารถกำหนดกิจกรรมและปริมาณงานของตนเองขึ้นมา โดยที่กิจกรรมและปริมาณงานนี้จะเปลี่ยนไปในแต่ละสัปดาห์
ตารางกำหนดรายวัน นักเรียนสามารถกำหนดรายละเอียดการทำกิจกรรมเป็นรายชั่วโมงในแต่ละวัน ตัวอย่างเช่น
วันพุธ
8:00 – 8:30 ทบทวนวิชาประวัติศาสตร์
12:45 – 13.15 ทบทวนคณิตศาสตร์และเตรียมตอบคำถาม
16:45 แวะซื้อของตอนกลับบ้าน
19:30 – 21.30 อ่านหนังสือบทที่ 5 – 6 (ประวัติศาสตร์)
21:45 โทรคุยกับเพื่อน
การจัดแบ่งเวลาที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาทักษะด้านการเรียน ดังนั้น หากผู้เรียนให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จะทำให้การพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ดีขึ้นไปด้วย ฉบับหน้าจะมาพูดต่อกันถึงเรื่อง “สมาธิในการเรียน”
ที่มาข้อมูล : สานปฏิรูป ฉบับที่ 71 เดือนมีนาคม 2547
ผู้ชม :4667