ฉันจะเล่าให้คุณฟัง : “นิทานสนุกๆ”

ฉันจะเล่าให้คุณฟัง : “นิทานสนุกๆ”
(Lively Interactive Classroom)

โดย…ครูปราง

……………………………………………………………………………………………….

เด็กๆกับการ์ตูนหรือนิทาน เป็นสิ่งที่ยากจะแยกออกจากกัน ตอนเด็กๆช่อง 9 เช้าวันเสาร์กับการ์ตูนสารพัดเรื่อง หรือนิทานหุ่นมือ (puppet) ของป้าหญิงใหญ่ ในเจ้าขุนทอง เป็นเวลาหน้าจอโทรทัศน์ที่เด็กๆหลายคนตั้งตารอคอย ฉันก็เช่นกัน ! นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมนิทานหรือการ์ตูนจึงผูกพันกับวัยเยาว์ของเด็กๆ แม้จะผ่านมากว่า 20 ปี ทว่าภาพจำเหล่านั้นยังแจ่มชัด………..

และจะเป็นไปได้ไหม หากฉันอยากจะลองนำ “นิทาน” มาเป็นส่วนหนึ่งกับห้องเรียนภาษาอังกฤษ ? ด้วยแรงบันดาลใจจากการเยี่ยมชมนิทรรศการสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (English Zone) ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2559 ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นิทรรศการครั้งนี้ เปิดโลกทัศน์ให้ฉันได้รู้จักกับ “นวัตกรรม” การสอนที่ครูตัวเป็นๆแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ก็นั่นแหละ กับบริบทอย่างโรงเรียนประถมเล็กๆชายทะเลของฉัน นวัตกรรมใหม่ๆสีสันสวยงามเหล่านั้น แทบจะไกลเกินเอื้อม ฉันจึงทำได้เพียงเดินชม ฟัง สอบถามรายละเอียด เพื่อเก็บเกี่ยวเป็นไอเดียใหม่ๆมาผสมผสานกับบริบทจริงที่ฉันสามารถสร้างชีวิตชีวาให้ปรากฎในห้องเรียนภาษาอังกฤษ โดยมีหลักคิดสำคัญคือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่ามากที่สุด……….

ฉันนึกถึงการผลิตสื่อสมัยที่แม่เริ่มเป็นครูใหม่ๆ ตอนนั้นฉันยังเด็กมาก จึงร่วมรู้เห็นทุกกระบวนการ มาวันนี้ ลองปัดฝุ่นวิธีการเหล่านั้น แต่นำเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตมาทำให้ง่ายขึ้น , ลองดูไหม? – แล้วฉันจะเล่าให้ฟัง
คุณครูลองเขียนนิทานสั้นๆ นำโครงสร้างไวยากรณ์ที่จะสอนในคราวนั้นมาเป็นแก่นแกนหลักที่จะสร้างประโยค เช่น คุณจะสอน Present Simple Tense : I am a girl. My name is Raihana. I live in Kabang village. Etc. คำศัพท์ที่นำมาใช้ก็ตามระดับชั้นของผู้เรียน แล้วนำประโยคสั้นๆไม่กี่บรรทัด มาทำภาพประกอบ เจ้าภาพประกอบนี้ ควรจะเป็นตัวละครแบบ Theme character คือใช้ตัวละครเดิม เดินเรื่องนำพาผู้เรียนไปจนจบ และอาจจะเป็นภาคต่อในเล่มถัดมาก็ย่อมได้ หากคุณครูคิดว่าการวาดภาพยากเกินไป อาจจะค้นหาภาพจากอินเทอร์เน็ต ภาพที่เป็นชุดเดียวกันในหลายๆอิริยาบถ สามารถดาวน์โหลดได้ไม่ยาก (http://classroomclipart.com/clipart/Clipart/Cartoons.htm) แล้วนำมาเสริมเติมแต่งด้วยฉากหลังให้เป็นนิทานเฉพาะของคุณครูเอง

เรื่อง Character ของตัวละครในนิทานนี้ ฉันได้แนวคิดจากหนังสือเรียนส่วนใหญ่ที่มีตัวละครเจ้าประจำ ผู้เรียนจะคุ้นเคยเสมอเหมือนว่าเป็นเพื่อนที่เติบโตไปพร้อมๆกัน เช่น แก้วกับกล้าในหนังสือเรียนภาษาไทย หรือตัวละครสุดคลาสสิกอย่า มานะ มานี ปิติ ชูใจ ในหนังสือเรียนภาษาอังกฤษหลายๆสำนักก็นำแนวคิดนี้มาใช้เช่นกัน อย่างในหนังสือ Smile มี Jenny, Bobo, Sam เป็นต้น
ตัวละครเหล่านี้ไม่เคยหายไปจากใจฉันเลย ก็พอจะเป็นการอ้างอิงเชิงประจักษ์ที่จะสนับสนุนได้ว่า การใช้ theme character จะทำให้เด็กจดจ่อและจดจำเรื่องราว/ตัวละครและภาษาที่ใช้จะซึมซับไปด้วยที่ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้เรียนรู้ กลวิธีเหล่านี้สามารถสร้างความคงทนในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้มากขึ้น

ในขั้นตอนการสร้างนิทานนี้ ฉันคิดไว้ 2 ขนาดคือ ขนาด A4 ธรรมดา ที่คุณครูสามารถสั่งพิมพ์ออกมาได้สะดวก และขนาดโปสเตอร์ คือ จะต้องปริ้นท์ภาพตัวละครขนาดใหญ่ ลงกระดาษ A4 แล้วจึงมาตัดแปะลงบนกระดาษโปสเตอร์อีกครั้ง และในทางกลับกันคุณครูท่านใดที่มีฝีมือสายติสท์ งานวาดลงโปสเตอร์ก็จะง่ายขึ้นหลายเท่าตัว……….

เมื่อมี นิทาน” แล้วในขั้นตอนการใช้ ฉันบูรณาการมาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ได้เห็นได้ฟังได้ลองทำ ชั้นเรียนแบบ Interactive Classroom หรือห้องเรียนที่เน้นปฎิสัมพันธ์ เน้นการสื่อสาร เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและสำคัญที่สุดคือ เน้นความมีชีวิตชีวา และเช่นกันการสอนนิทานให้มีชีวิตชีวาก็สามารถทำได้ ลองค้นวีดีโอของ British Council (https://www.youtube.com/watch?v=jNn0jw_pUfA) จะมีตัวอย่างการสอนนิทานแบบ interactive ที่น่าสนใจ ทั้งในและต่างประเทศ สามารถดึงเอาวิธีการเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เข้ากับบุคลิกของตนเอง แทนที่จะเป็นบทบาทสองทางเช่นปกติ คือครูอ่าน เด็กฟัง ลองเปลี่ยนเป็น ครูดึงตัวละครมาให้เด็กลองแอ็คชั่น ส่วนนักเรียนคนอื่นๆแทนที่จะฟังก็ให้เป็นผู้บรรยายร่วม (narrators) โดยครูพูดนำ เด็กพูดตาม ปรับเสียงเล็กเสียงน้อยให้สนุก นิทานก็น่าสนใจ แล้วจะรู้ว่า “การเล่า” ให้ “เด็กร่วม” เป็นอย่างไร

จากนั้นลองขยายผลความรู้ของเด็กๆ อาจใช้เกมหรือแบบฝึกที่เน้นเรื่องคำศัพท์ เรื่องรูปประโยค อาจเป็นเกมจับคู่ หรือเติมคำที่หายไป หรืออาจจะใช้วิธีการดั้งเดิมอย่างคัด-ลอก ก็ยังใช้ได้ผลดีกับรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กประถมของโรงเรียนริมเล เพราะฉันเองก็ประสบปัญหาที่น่ากังวลเกี่ยวกับการจำ “รูปคำ” ดังนั้นการสะกด การเขียนให้ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลย……….

เมื่อฟังแล้ว เขียนแล้ว อ่านแล้ว ขั้นสุดท้ายที่จะเป็นไฮไลต์ให้เด็กๆได้ลองประมวลและนำเสนอข้อมูลที่อยู่ในหัวออกมา คือการใช้สื่อที่ฉันจะเรียกว่า “นิทานกระดานยักษ์” (Jumbo Story Board) หน้าตาจะเป็นเหมือนกระดาษโปสเตอร์ที่บรรจุตัวละคร ฉากจากในนิทานที่คุณครูสร้างให้เด็กอ่านก่อนหน้านี้ แต่จะมีแค่ภาพ เด็กๆมีหน้าที่สร้างประโยคจากภาพ โดยอาศัยโครงสร้างประโยคที่เรียนไป อาจจะมีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องอยู่บริเวณขอบของภาพ เพื่อเป็นตัวช่วยในการสร้างประโยคของเด็กๆ ในขั้นตอนนี้ สำหรับเด็กประถม ครูจะต้องลงมาเป็นพี่เลี้ยง คอยกระตุ้นให้ผู้เรียนพูดออกมา คอยเสริมเติมแต่งให้สมบูรณ์ เด็ก 5 คน ก็อาจจะมีบทสนทนา 5 ประโยค สอดรับเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทักษะและพัฒนาการของผู้เรียน……….

ด้วยวัตถุดิบง่ายๆ และความสามารถที่มีอยู่ในตัวคุณครูทุกคน ห้องเรียนในชนบทห่างไกล ก็เปี่ยมชีวิตชีวาขึ้นได้ แม้จะไม่มีสื่อที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต ใช้คอมพิวเตอร์เป็นฐานเช่นโรงเรียนอื่นๆที่มีศักยภาพในการ “จ่าย” หากสำคัญกว่านั้นคือครูจะต้องอดทนต่อความเหนื่อยสารพัดในหน้าที่ มองเข้าไปในดวงตาของเด็กๆ – ลูกศิษย์ที่คุณครูรักแล้วจะรู้เลยว่าเหนื่อยเพิ่มอีกสักนิด คิดเพิ่มอีกสักหน่อย ก็ไม่ใช่เพื่อใคร เพื่อเด็กๆของเรา เด็กๆของโลกใบนี้ .

ผู้ชม :3149