รายงานการประเมินโครงการคนดีศรีน้ำหราเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำหรา จังหวัดสตูล

ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการคนดีศรีน้ำหราเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำหรา จังหวัดสตูล
ผู้รายงาน นายสมนึก ศรีนคร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำหรา
ปีที่รายงาน ปีการศึกษา 2554

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

รายงานการประเมินโครงการคนดีศรีน้ำหราเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำหรา จังหวัดสตูล ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์โมเดลของสตัฟเฟิลบีม(Stufflebeam’s CIPP Model) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทหรือสภาพแวดล้อม (Context) ของโครงการ เพื่อประเมินประเมินปัจจัยนำเข้า (Input ) ของโครงการ เพื่อประเมินกระบวนการ(Process) ของโครงการ และเพื่อประเมินผลผลิต (Product ) ของโครงการเกี่ยวกับผลการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนใน 8 ด้าน ได้แก่ ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะ กลุ่มตัวอย่างผู้ให้ข้อมูลได้แก่ ครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–6 จำนวน 7 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4– 6 จำนวน 53 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4– 6 จำนวน 53 คน รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จำนวน 120 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มอย่างง่ายแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ แบบประเมินโครงการคนดีศรีน้ำหรา จำนวน 4 ฉบับ และแบบประเมินคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนตามโครงการคนดีศรีน้ำหรา จำนวน 1 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้

ผลการประเมิน

1. ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อมของโครงการคนดีศรีน้ำหราเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน โรงเรียนบ้านน้ำหรา ตามความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณารายละเอียดตามประเด็นการประเมินจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก พบว่า โครงการมีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันปัญหาของโรงเรียนและชุมชน รองลงมา คือ โครงการมีความสอดคล้องกับปรัชญาและอัตลักษณ์ของโรงเรียน และวัตถุประสงค์และกิจกรรมของโครงการนำไปสู่การปฏิบัติได้ ตามลำดับ

2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการคนดีศรีน้ำหราเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำหรา ตามความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณารายละเอียดตามประเด็นการประเมินจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก พบว่า การส่งเสริม สนับสนุนในการดำเนินงานตามโครงการจากผู้บริหารโรงเรียน รองลงมา คือ ระยะเวลาดำเนินการเหมาะสมกับโครงการ และวิธีการและกิจกรรมที่ใช้ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมมีความเหมาะสม ตามลำดับ

3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ ของโครงการคนดีศรีน้ำหราเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำหรา ตามความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณารายละเอียดตามประเด็นการประเมินจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก พบว่า โรงเรียนได้ดำเนินการตามโครงการเป็นไปตามแผนปฏิบัติการที่วางไว้ รองลงมา คือ มีการกำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน และผู้บริหารโรงเรียนมีการนิเทศติดตามผลการดำเนินงานของโครงการ ตามลำดับ

4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการคนดีศรีน้ำหราเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำหรา พบว่า

4.1 ความพึงพอใจในรูปแบบกิจกรรมของโครงการคนดีศรีน้ำหราเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำหราในภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายกิจกรรมจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก พบว่า กิจกรรมออมทรัพย์นักเรียน รองลงมา คือ กิจกรรมศึกษาแหล่งเรียนรู้ และกิจกรรมกีฬา-กรีฑานักเรียน ตามลำดับ

4.2 ความพึงพอใจต่อพฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายข้อจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก พบว่า นักเรียนมีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รองลงมา คือ นักเรียนมีระเบียบวินัย และนักเรียนมีวิถีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ตามลำดับ

4.3 ความพึงพอใจต่อผลสำเร็จของโครงการ ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายข้อจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก พบว่า กิจกรรมในโครงการส่งผลต่อการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน รองลงมา การมีส่วนร่วมในการวางแผนและการจัดกิจกรรม และควรดำเนินโครงการนี้ต่อไปทุกปี ตามลำดับ

ข้อเสนอแนะ

1. ควรเตรียมความพร้อมของบุคลากร งบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินกิจกรรมโครงการ

2. ควรดำเนินกิจกรรมโครงการคนดีศรีน้ำหราเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำหราอย่างต่อเนื่อง และทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนในด้านต่างๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อที่จะเป็นเยาวชนที่ดีของสังคมต่อไป

3. ควรประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมตามโครงการอย่างทั่วถึงและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

4. ควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการวางแผนและการจัดกิจกรรมตามโครงการจากครู กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียน ให้มากยิ่งขึ้น

5. ควรใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบอื่นๆ นอกเหนือจากรูปแบบ CIPP บ้าง

 

 

 

 

ผู้ชม :2052