โรงเรียนกับการเตรียมคนเข้าสู่ประชาคมอาเชียน ๒๐๑๕

ปพน  คำแก้ว  ผู้อำนวยการโรงเรียนสาครพิทยาคาร
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต ๑๖

วิสัยทัศน์ร่วมของอาเชียนถูกกำหนดขึ้นในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปีของการก่อตั้งอาเซียน ในปี ๒๕๔๐ (ค.ศ.1997) โดยผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันรับรอง เรียกว่า “วิสัยทัศน์ ASEAN 2020” กำหนดไว้ว่าในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอก การใช้ชีวิตในสภาพที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง ผูกมัดกันเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา ที่มีพลวัตและในประชาคมที่มีความเอื้ออาทรระหว่างกัน (กูรู กูเกิล. ๒๕๕๒:๑) ต่างก็ทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่า จุดเริ่มต้นของประชาคมอาเชียนถือกำเนิดเกิดขึ้นจากปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ โดยไทยเป็น ๑ ใน ๕ ประเทศก่อตั้งอันประกอบด้วย อินโดนีเชีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ จึงพูดได้ว่า ไทย คือเจ้าของความคิดในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเชียน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าจากระยะเวลา ๔๕ ปีนับแต่การจัดตั้งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีการเตรียมประชากรของประเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมอย่างชัดเจนนัก ผู้คนส่วนใหญ่เพิ่งจะเริ่มรู้จักและตื่นตัวกับคำว่า “อาเชียน”เมื่อ ๒ – ๓ ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งการเตรียมความพร้อมของประชากรถือเป็นสาระสำคัญของการอยู่ร่วมกันในลักษณะที่เป็นประชาคม การปรับตัวในการใช้ชีวิตของผู้คนที่จะอยู่ร่วมกันในสภาพที่มีสันติภาพบนความแตกต่างของวัฒนธรรมและแนวคิดที่หลากหลาย แถมยังต้องร่วมเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายโดยอยู่บนพื้นฐานแห่งความเอื้ออาทรระหว่างกัน ดูจะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก

หันกลับมามองเด็กๆ และเยาวชนในโรงเรียนซึ่งกำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประชากรอาเชียนใน  ปี ๒๕๕๘ ที่กำลังจะมาถึง ว่าพวกเขาหล่านั้นมีสภาพและความพร้อมเพียงใดกับวิถีชีวิตแบบอาเชียนในอนาคตอันใกล้นี้ การเป็นคนไทย หนึ่งในประเทศสมาชิกของประชาคมอาเชียนเป็นเรื่องที่จะต้องเตรียมตัวเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถอยู่ร่วมกับผู้คนอีกประมาณ ๖๐๐ ล้านคนตามที่วิสัยทัศน์อาเชียน ๒๐๒๐ กำหนดไว้อย่างมีความสุขให้ได้ โรงเรียน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องและจะต้องถือเอาเรื่องนี้เป็นภาระกิจหลักของหน่วยงานด้วย นั่นหมายถึง โรงเรียนจะต้องมีหน้าที่เตรียมตัวให้นักเรียนทุกคนมีความพร้อมในสิ่งสำคัญ                   ๓ ด้าน คือ

๑. ด้านความรู้ เด็กไทยจะต้องมีความรู้ในเรื่องราวต่างๆ ที่สำคัญๆ ของอาเชียน เช่น เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกทั้ง ๑๐ ประเทศเป็นอย่างดี นอกจากนั้นแล้วก็จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับจุดกำเนิดอาเชียน กฎบัตรอาเชียน การเป็นประชาคมอาเชียนตลอดจนความสัมพันธ์ภายนอกของอาเชียนให้เข้าใจ

๒. ด้านทักษะและกระบวนการ ด้านนี้ถือเป็นด้านที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการสื่อสาร อาเชียนได้กำหนดให้ใช้ ภาษาอังกฤษ เป็นภาษากลางของอาเชียน ดังนั้น ต่อไปนี้เด็กๆ ทุกคนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองของตนเองให้ได้ นอกจากภาษาอังกฤษแล้วภาษาของประเทศในเพื่อนบ้านอื่นๆ อีกอย่างน้อย ๑ ภาษา ที่น่าสนใจคือ ครึ่งหนึ่งของประชากรในอาเชียนใช้ภาษามลายูสื่อสารกันและในช่วงทศวรรษนี้ประเทศจีนกำลังรุกในเรื่องเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ภาษาจีน ก็เป็นอีกหนึ่งภาษาที่กำลังจะมีบทบาทสูงมากในประชาคมอาเชียน นอกจากนั้นเด็กๆ จะต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์อันจะนำไปสู่วิถีชีวิตประจำวันและการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีความสามารถในการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ลดความขัดแย้งและการกระทบกระทั่งในทุกกรณี ที่สำคัญจะต้องมีความสามารถในการทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ นอกเหนือจากนั้น พวกเขาจะต้องมีความรับผิดชอบทางสังคม ยอมรับและเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มีเหตุผลและมีวิธีคิดอย่างถูกต้อง

๓. ด้านเจตคติ เด็กไทยจะต้องมีท่าทีหรือความรู้สึกต่อความเป็นอาเชียน โดยมีความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล คือ หลักกฎหมาย หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักความมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบและหลักความคุ้มค่า มีวิถีชีวิตตามหลักประชาธิปไตย ยอมรับความแตกต่างในการนับถือศาสนาและที่สำคัญที่สุดคือต้องรู้จักดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ได้

อย่างไรก็ตามอาเชียนได้กำหนดหลักการของความร่วมมือการเป็นประชาคมอาเชียนไว้ เรียกว่า               “เสาหลัก” ๓ เสาหลักด้วยกัน คือ ด้านการเมืองและความมั่นคง หรือ “เสาหลักแห่งความมั่นคง” ด้านเศรษฐกิจ หรือ “เสาหลักแห่งความมั่งคั่ง”และด้านสังคมและวัฒนธรรม หรือ “เสาหลักแห่งความแบ่งปันเอื้ออาทร”ซึ่งจะผนึกผสานกันอย่างอย่างกลมเกลียวเหนียวแน่นเพื่อเสริมความแข็งแกร่งร่วมกันให้กับวัตถุประสงค์อันยั่งยืนในการสร้างสันติภาพ ความมั่นคง การพัฒนา และแบ่งปันความมั่งคั่งระหว่างกันในภูมิภาค” (สมเกียรติ อ่อนวิมล. ๒๕๕๒:๒)

นับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายของโรงเรียนเป็นอย่างมากทีเดียวที่จะต้องทำภาระกิจเตรียมคนให้สำเร็จ ลุล่วง มิฉะนั้นแล้วเด็กไทยซึ่งหมายถึงประชากรของอาเชียนจะต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นไร เมื่อการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศในภูมิภาคนี้เริ่มต้นขึ้นใน ปี พ.ศ.๒๕๕๘ อันใกล้นี้ เราจะต้องกระตุ้นเตือนเด็กๆ ในโรงเรียนให้ตระหนักและเข้าถึงเรื่องนี้ไว้และจะต้องตั้งหน้า ตั้งตา เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อเปลี่ยนผ่านชีวิตไปสู่สังคมใหม่ คือ สังคมแห่งอาเชียน ให้จงได้

อ้างอิง

กูรู กูเกิล.(พฤศจิกายน ๒๕๕๒). “ประวัติอาเชียน”, สืบค้นเมื่อ ๒๐  ตุลาคม  ๒๕๕๕ , จาก

http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=625209b0659ff07e

สมเกียรติ อ่อนวิมล. (มีนาคม ๒๕๕๒). “ASEAN DIARY บันทึกอาเซียน”, สืบค้นเมื่อ ๒๐  ตุลาคม  ๒๕๕๕ , จาก

http://www.aseanvision.com/news-top-detail.jsp?id=20091127130356595542&mm=11&yy=2009

ผู้ชม :2166