PostHeaderIcon 8 นโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

Number of View: 0
การปฏิรูปการศึกษาหรือการจัดการศึกษาต้องพิจารณาจากโจทย์ใหญ่ คือ การที่ ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมขนาดใหญ่ ทั้งในระดับภูมิภาคและสังคมโลกซึ่งมีเศรษฐกิจขอสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป รวมทั้งประเทศใหญ่ๆ ของเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เป็นแกนนำ แต่จากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก กลุ่มประเทศ ดังกล่าวต่างได้รับผลกระทบ เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แม้บางประเทศเช่นจีนที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วมาก ก็ยังมีการชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจ ในสภาพอย่างนี้มีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อที่จะสามารถอยู่รอดในสภาวการณ์ปัจจุบันและในอนาคตต่อไป ประกอบกับในภูมิภาคนี้จะมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนมีความพยายามที่จะเชื่อมโยงกันของประเทศในอาเซียนกับนอกภูมิภาคอาเซียนจึงมีความจำเป็นต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบ Logistics ที่สำคัญของประเทศ ทั้งด้านการคมนาคม การสื่อสาร ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนและกำลังเร่งดำเนินการในด้านนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่สำคัญมาก และขาดไม่ได้ คือ การพัฒนาคน เพราะฉะนั้นจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญ ของการจัดการศึกษาและปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย
การศึกษาต้องเดินหน้าสู่การสร้าง การพัฒนา เตรียมความพร้อมให้สอดคล้องกับสังคมโลก โดยเฉพาะสังคมโลกในศตวรรษที่ ๒๑ อันเป็นผลจากการปฏิวัติด้านดิจิทัล (Digital Revolution) และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่ทำให้โลกทั้งโลกเชื่อมโยงและสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องสร้างและพัฒนาให้คนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถ มีทักษะ ความถนัด ความชำนาญพร้อมจะขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาประเทศ สู่การเป็นประเทศพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น
จากผลการประเมินการจัดอันดับโดย IMD พบว่า ในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ การศึกษาไทยอยู่ในอันดับที่ ๕๑ จาก ๖๐ ประเทศ ผลการประเมินการทดสอบ PISA ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ในปี ค.ศ. ๒๐๐๙ พบว่าเด็กไทยอยู่ในอันดับที่ประมาณ ๕๐ จาก ๖๕ ประเทศ ผลการจัดอันดับ ๔๐๐ มหาวิทยาลัย
ที่ดีที่สุดในโลก โดย Times Higher Education World Rankings ปี ค.ศ. ๒๐๑๒ – ๒๐๑๓ มีมหาวิทยาลัยไทยเพียงแห่งเดียวที่ติดอยู่ในกลุ่ม ๓๕๑ – ๔๐๐ นับเป็นสภาพจริงที่เราประสบอยู่
รัฐบาลปัจจุบัน จึงมีนโยบายด้านการศึกษาที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา ดังได้แถลงต่อรัฐสภาที่จะปฏิรูประบบการเรียนรู้ ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจและกำหนดเป็นนโยบายด้านการศึกษา และได้ดำเนินการมาเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ของสังคมโลกและสังคมไทย จากโจทย์ที่ประเทศนี้จะต้องรับมือจึงมี ความจำเป็นที่จะต้อง  “ยกเครื่องการศึกษาไทย” ให้มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากลและสอดคล้องกับสังคมโลกยุคใหม่
ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงขอประกาศให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ให้ป ๒๕๕๖ เป็นปีแห่ง “การรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา” ซึ่งหมายความว่า กระทรวงศึกษาธิการจะทำตามลำพังไม่ได้ ต้องอาศัย พลังของสังคมทั้งมวลมาช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวนโยบาย
ด้านการศึกษาของรัฐบาล และสานต่องานที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว
ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิด วิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และทักษะที่จําเป็นสําหรับศตวรรษที่ ๒๑ โดยภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘
- ให้ผลการจัดอันดับการศึกษาไทย ผลการทดสอบ PISA ของไทยอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น
- ให้สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสามัญเปลี่ยนเป็น ๕๐ : ๕๐
- ให้มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกมากขึ้น และ
- ให้มีการกระจายโอกาสและเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น
ในส่วนของผลทดสอบ PISA และการปรับสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษานั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการสามารถทำได้เองโดยตรง โดยจะตั้งคณะทำงาน กำหนดยุทธศาสตร์ และกระบวนการในการทำงานให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันดำเนินการเพื่อให้ผลสัมฤทธิ์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีเป้าหมาย
ทั้งนี้ จะเน้นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งในการรับผิดชอบร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษา ในเรื่องนี้วงการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาของรัฐ ต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่าการศึกษาของภาคเอกชนเป็นกําลังสําคัญของประเทศ
นโยบายที่จะเร่งรัดดำเนินการทั้ง ๘ ประการ มีดังนี้
๑. เร่งปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องโดยปฏิรูปให้มีความเชื่อมโยงกันทั้งหลักสูตรและการเรียนการสอน ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่ การพัฒนาครู และการพัฒนาระบบการทดสอบ การวัดและประเมินผลที่ได้มาตรฐานและเชื่อมโยงกับหลักสูตรและการเรียนการสอน และการพัฒนาผู้เรียน ที่ใช้คำว่า “ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน” คือ เรื่องปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งต้องมีการทดสอบประเมินผล การทดสอบประเมินผลต้องคำนึงถึงหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ไม่ใช่การทดสอบที่ไม่สัมพันธ์เท่าที่ควรหรือไม่คำนึงถึงการเรียนการสอน นอกจากการทดสอบของกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติแล้ว ยังเชื่อมโยงไปถึงระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในระดับขั้นพื้นฐาน หากยังเป็นอย่างที่เป็นอยู่จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระบบทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในระดับขั้นพื้นฐาน เพราะเห็นความสำคัญของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่า จะพยายามปฏิรูปอย่างไรผู้เกี่ยวข้องก็ไม่ให้ความสำคัญอยู่ดี หากยังใช้ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยอย่างที่เป็นอยู่
นอกจากนี้ ที่มักจะพูดกันว่าเด็กคิดเป็น วิเคราะห์เป็นหรือไม่ ก็ต้องมาดูกันว่าการเรียนการสอนและหลักสูตรเป็นอย่างไร จึงต้องใช้หลักสูตร การเรียนการสอน เป็นแกนหลักเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน และเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาครู และการประเมินสถานศึกษาทั้งภายในและการประเมินภายนอก การประเมินวิทยฐานะและความก้าวหน้าของครูซึ่งต้องมุ่งผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนั้น ใน ๖ เรื่อง คือ ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปการเรียนการสอนการทดสอบ/วัดและประเมินผลผู้เรียน การรับบุคคลเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษา การประเมินวิทยฐานะและความก้าวหน้าในวิชาชีพครู และการประเมินสถานศึกษา จึงต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และมุ่งไปที่คุณภาพผู้เรียนและผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นหัวใจของนโยบายนี้ โดยจะดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังนี้
- เร่งรัดและสานต่อเรื่องปฏิรูปหลักสูตรให้ก้าวหน้าและให้แล้วเสร็จ โดยจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะชีวิตที่เหมาะสมทุกระดับชั้นการศึกษา
- พัฒนากระบวนการเรียนการสอนในปัจจุบันและเพื่อรองรับหลักสูตรใหม่ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง อย่างต่อเนื่อง มีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น สอดคล้องกับการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ โดยจะเริ่มจากวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ และการคิด วิเคราะห์
- พัฒนาระบบทดสอบ วัดและประเมินผลทั้งภายในและภายนอก ให้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการปฏิรูปการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีมาตรฐานเทียบเคียงได้กับนานาชาติ โดยเชื่อมโยงกับเนื้อหาสาระในหลักสูตรและการเรียนการสอน รวมทั้งพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลให้เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
๒. ปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครู ให้มีจํานวนการผลิตที่สอดคล้องกับ ความต้องการ มีความรู้ ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรปัจจุบัน รองรับหลักสูตรใหม่ และการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ รวมทั้งพัฒนาระบบประเมินวิทยฐานะครูให้เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ดูแลระบบสวัสดิการและลดปัญหาที่บั่นทอนขวัญ กําลังใจของครู ให้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนและคุณภาพผู้เรียน
๓. เร่งนําเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้ในการปฏิรูปการเรียนรู้ สร้างมาตรฐานการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์แบบพกพา (แท็บเล็ต) และพัฒนาเนื้อหาสาระ พัฒนาครู และการวัด ประเมินผลที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งเพื่อเป็นเครื่องมือให้เกิดระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตในสังคมไทย
แท็บเล็ต เป็นเรื่องสำคัญและเป็นหนึ่งในนโยบายการศึกษาของรัฐบาล ที่ผ่านมามีการพิจารณาว่าควรจัดแท็บเล็ตให้กับเด็กนักเรียนในช่วงชั้นใด จำนวนเท่าไร มีเนื้อหาอย่างไร ซึ่งก็มีความคืบหน้าในการดำเนินงานไปแล้ว เรื่องนี้เห็นว่าเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งพัฒนาคือ เนื้อหาสาระ ทั้งเนื้อหาสาระทั่วไปที่ควรรู้ แบบทดสอบ แบบฝึกหัด เทคนิค หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ใช้กับแท็บเล็ต เพื่อที่จะทำให้การเรียนมีประสิทธิภาพและได้ผลดีขึ้น และเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ที่มีการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารอย่างไร้ขีดจำกัด และต้องมี การพัฒนาครู เพื่อให้เข้าใจและสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้ก้าวทันโลกยุคใหม่ ที่ควรเน้นให้เด็กรู้จักค้นหา คิด วิเคราะห์ รู้จักทำความเข้าใจและตั้งคำถาม เป็นต้น รวมทั้งต้อง  สร้างมาตรฐานการเรียนการสอนด้วยแท็บเล็ต เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการคิดหรือประดิษฐ์แบบเรียน แบบฝึกหัด เนื้อหาสาระที่ได้มาตรฐาน เพื่อสามารถนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนได้อย่างแท้จริง ซึ่งตรงนี้ยังขาดอยู่ และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ
๔. พัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาให้มีมาตรฐานเทียบได้กับระดับสากล ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการใช้กรอบคุณวุฒิวิชาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อมาใช้กําหนดทักษะ ความรู้ ความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ ทำให้มีงานทํา มีความก้าวหน้าและได้รับค่าตอบแทนตามสมรรถนะที่เพิ่มขึ้น  โดยไม่ขึ้นกับวุฒิการศึกษาเท่านั้นกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ จึงเป็นกลไกที่มากำหนดและรับรองสมรรถนะหรือทักษะ ความรู้ความสามารถของกำลังคนในสาขาอาชีพต่างๆ ว่ามีความสามารถหรือสมรรถนะระดับใด จะช่วยทำให้กิจการมีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด แล้วแปรกลับมาเป็นรายได้ หรือค่าตอบแทน ส่งผลถึงเส้นทางความก้าวหน้าทางอาชีพซึ่งผู้ที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพบางประเภทที่ไม่จบปริญญาตรี อาจมีรายได้หรือเงินเดือนสูงกว่าผู้จบปริญญาตรีอย่างมากก็ได้ ทำให้คนต้องการมาเรียนสายอาชีวศึกษามากขึ้น เพราะเห็นโอกาสก้าวหน้า มีรายได้สูง ตามสมรรถนะ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อการอาชีวศึกษา นำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ จะพัฒนาการเรียนการสอนอาชีวศึกษา โดยขยายระบบทวิภาคี ร่วมมือกับภาคการผลิตและสถานประกอบการมากขึ้น รวมทั้งมีมาตรการจูงใจให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสถานศึกษาในลักษณะทวิภาคี โดยมีเป้าหมายปรับสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสามัญเป็น ๕๐ : ๕๐
๕. ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาเร่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน มากกว่าการขยายเชิงปริมาณส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยให้มีการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาของไทยเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาคุณภาพมาตรฐานและจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University) ให้มากขึ้น
เรื่องการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของไทยนั้น เป็นเรื่องที่ต้องแลกเปลี่ยนความเห็น หาองค์ความรู้มากพอสมควร เพื่อให้เห็นพ้องต้องกัน มหาวิทยาลัยไทยที่ติดอันดับในกลุ่ม ๓๕๑ – ๔๐๐ มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนมหาวิทยาลัยที่เหลือจะมีคุณภาพอย่างไรไม่ค่อยมีใครทราบ แล้วจะพัฒนาการอุดมศึกษากันอย่างไร อย่างไรก็ตาม การที่จะรู้ว่ามหาวิทยาลัยไหนมีคุณภาพเป็นอย่างไร ทางหนึ่งคือเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ หรืออีกทางหนึ่งคือเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยไทยด้วยกันเอง ด้วยกติกา เงื่อนไขที่เหมาะสมและเป็นสากล เพื่อให้คนในวงการศึกษาได้ทราบว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นอย่างไร และมหาวิทยาลัยเองก็จะได้ทราบว่าตัวเองเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือสังคมทั้งสังคมทราบว่ามหาวิทยาลัย เป็นอย่างไร ไม่ใช่เกิดจากความรู้สึกหรือประสบการณ์ตรงเท่านั้น ดังนั้น นโยบายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้นี้มุ่งหมายให้มีกระจกให้มหาวิทยาลัยส่อง ให้สังคมได้ช่วยกันผลักดัน โดยต้องมีกลไกในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยพัฒนาก้าวหน้า ในแง่นี้สังคมกับมหาวิทยาลัยจึงจะต้องไม่เป็นอิสระจากกัน
๖. ส่งเสริมให้เอกชนและทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น สนับสนุนระบบความร่วมมือแบบเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษารัฐ และเอกชน (Public Private Partnerships) ตลอดจนเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร เป็นวิทยากร สนับสนุนการฝึกงาน และเรียนรู้การทำงานจริงในสถานที่ทำงาน เช่น การอาชีวศึกษาควรให้เอกชนเข้ามาร่วมตลอดกระบวนการ แค่ทวิภาคีอาจไม่เพียงพอเอกชนควรเข้ามาร่วมตั้งแต่กำหนดหลักสูตรว่าต้องการหลักสูตรหรือกระบวนการเรียนการสอนแบบใด ทั้งนี้ โดยรัฐกํากับควบคุมเท่าที่จําเป็น เพื่อรักษาคุณภาพมาตรฐาน และสนับสนุนส่งเสริม ให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
๗. เพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มอายุได้รับบริการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส และการพัฒนากองทุนเงินกู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (ICL) ให้สามารถเป็นกลไกในการพัฒนาคุณภาพ เพิ่มโอกาสและผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
เรื่องกองทุนเงินกู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคตนั้น แม้ขณะนี้จะมีกองทุนอยู่ในรายการงบประมาณ แต่ยังไม่ตรงกับแนวความคิดหรือเจตนารมณ์การก่อตั้งหรือริเริ่มกองทุนฯ การดำเนินการในเรื่องนี้ จึงต้องอาศัยผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงผู้สนใจและมีส่วนเกี่ยวข้องที่มีความรู้ ความเข้าใจและเคยร่วมดำเนินการในเรื่องนี้มาแต่ต้น มาร่วมกันคิดอย่างจริงจัง
๘. พัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาและสถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม อัตลักษณ์ และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นให้มากขึ้นโดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัย การสร้างขวัญ กำลังใจให้กับนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา
เพื่อให้บรรลุผลตามนโยบายและบรรลุผลตามเป้าหมายที่กําหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ จะมีกลไกขับเคลื่อน ๕ ประการ ดังนี้
๑. เร่งรัดจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตามกฎหมายกำหนดโดยสาระสำคัญจะเป็นการเปิดโอกาสในการใช้ทรัพยากรมากขึ้น และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
๒. จัดตั้งสถาบันเพื่อวิจัยหลักสูตรและพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมาตรฐาน ในเรื่องการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาของประเทศที่ผ่านมานั้น มักใช้วิธีเชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันดำเนินการ เมื่อทำเสร็จ ตีพิมพ์แล้ว ผู้เชี่ยวชาญก็หมดภาระหน้าที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่ไม่มีองค์กรหรือกลไกที่จะทำการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง ไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนที่จะประเมินผลการใช้หลักสูตรว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด หลักสูตรเป็นอย่างไร ครู นักเรียนมีความเห็นอย่างไร หรือต่างประเทศมีการพัฒนาอย่างไร ซึ่งในการพัฒนาหลักสูตร
ของต่างประเทศนั้น จะใช้ผลจากการวิจัยในเรื่องนั้นๆ เป็นฐานในการพัฒนาหรือปรับปรุง หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา จึงมีองค์กรที่ทำการวิจัยและพัฒนาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
๓. สร้างความเข้มแข็งของกลไกการวัดผล ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล พัฒนาให้มีตัวชี้วัดคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของประเทศที่เทียบเคียงได้ในระดับสากล เพื่อประเมินผลสำเร็จของระบบการศึกษาไทยในภาพรวม ซึ่งต้องหารือร่วมกับองค์กรต่างๆ เช่น สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) เป็นต้น
๔. เร่งรัดให้มีพระราชบัญญัติอุดมศึกษา เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระและความรับผิดชอบต่อสังคมของสถาบันอุดมศึกษา
๕. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรให้เกิด ประโยชนสูงสุด รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง
ในการบริหารงานให้เป็นไปตามนโยบายและกลไกดังกล่าวข้างต้น จะดำเนินการเป็น ๒ ส่วน ดังนี้
• ตั้งคณะกรรมการ/คณะทํางานเพื่อขับเคลื่อนเรื่องสําคัญต่างๆ โดยระดมผู้ที่เกี่ยวข้อง และภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มต้นจากคณะกรรมการยกระดับผลสัมฤทธิ์จากการทดสอบ PISA ของไทย เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดยุทธศาสตร์ในการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ของไทยให้อยู่ในอันดับที่ดีขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
• จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) อย่างเป็นระบบ โดยจะระดมความคิดและการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบาย
นโยบายดังกล่าวทั้งหมดนี้เป็นนโยบายสำคัญและแนวความคิดที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนของ ศธ. ช่วยกันผลักดัน การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญจำเป็นมากของประเทศในช่วงนี้และช่วงต่อไป การพัฒนาคนเป็นเรื่องจำเป็นที่เราไม่อาจที่จะละเลยได้ เราจะร่วมกันทําในเรื่องที่ยากและท้าทาย ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องอาศัยหลายฝ่าย แต่หากประเทศนี้จะไปรอด อยู่ในเวทีแห่งการแข่งขันยุคใหม่ได้ ต้องปฏิรูปการศึกษาให้ได้ ต้องพัฒนาคนให้ได้ ดังนั้นถึงจะยากแต่ต้องพยายามช่วยกันให้ได้ และหวังว่าบุคลากรทางการศึกษาจะช่วยกันคิดต่อว่าจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร ยินดีรับฟังความเห็นหรือข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุงและพิจารณาร่วมกัน
หวังว่าทุกท่านจะมีความพร้อมในการทำงานเรื่องยาก ซึ่งต้องอาศัยผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจในสังคมร่วมกันผลักดัน ร่วมกันยกเครื่องการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยต่อไป

Leave a Reply

ค้นหา
ปฏิทิน
พฤษภาคม 2024
อา พฤ
« พ.ย.    
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031  
หมวดหมู่
ผู้ดูแลระบบ