แท็บเล็ต นวัตกรรมทางการศึกษาที่อาจทำให้เราหลงลืมอะไรบางอย่าง

……….การใช้แท็บเล็ต หรือแล็ปท็อป ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เห็นพ้องต้องกันว่าดีและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการศึกษาของประเทศไทยนับแต่ปี ๒๕๕๕ ไป เพราะเชื่อว่าทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้การคิด การค้นคว้าและการทำงานกราฟิกต่างๆ จะสะดวกและมีคุณภาพมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนในสมัยก่อน ที่เด็กๆ จะต้องหาหนังสือ ตำรา ปากกา ดินสอรวมทั้งสีชนิดต่างๆ มาทำงานประเภทออกแบบและการนำเสนอ แต่ทว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญของกระบวนการเรียนรู้กำลังจะหายไปกับการใช้แท็บเล็ตอย่างสนุกสนานของเด็กๆ เหล่านั้น คือ “การเขียน” จำได้ว่าตอนเป็นนักเรียนคุณครูเคยสอนว่าการเรียนรู้จะต้องประกอบด้วยหลักสำคัญ ๔ ประการเรียกว่า หัวใจนักปราชญ์ โดยใช้ตัวย่อให้เราจำง่ายจนขึ้นใจว่า “สุ จิ ปุ ลิ” ๑. สุ มาจากคำว่า สุต แปลว่า การฟัง
๒. จิ มาจากคำว่า จินต แปลว่า การคิด
๓. ปุ มาจากคำว่า ปุจฉา แปลว่า การถาม
๔. ลิ มาจากคำว่า ลิขิต แปลว่า การเขียน

……….ซึ่งคุณครูบอกย้ำว่าหลักทั้ง ๔ ประการนี้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของบัณฑิตและนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ครบวงจรก่อให้เกิดปัญญาและสามารถนำปัญญาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในอนาคต

“ลิ” คือ ลิขิต เป็นคำกริยา แปลว่า เขียน หรือกำหนด การเขียนเป็นทักษะที่มีความสำคัญสำหรับการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเป็นอย่างมาก เพราะการเขียนเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ใช้ถ่ายทอดความคิด ความเข้าใจ ใช้บันทึกรวบรวมข้อมูลและที่สำคัญใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาสติปัญญา เนื่องจากการเรียนรู้ทุกอย่างจะให้เกิดผลดีนั้นต้องอาศัยการเขียนเพื่อบันทึกสิ่งที่ได้ฟังและได้อ่านอันจะนำไปสู่การพัฒนาเป็นลำดับ คิดต่อไปอีกว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเด็กในวันนี้ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เขียนหนังสือไม่เป็นและเขียนหนังสือไม่ถูก ไม่ถูกต้องตามหลักการใช้ภาษา จนกลายเป็นผู้ใช้ภาษาผิดๆ บางคนอาจจะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เป็นไร แต่ถ้าคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นย่อมมีมากมาย ถือเป็นการทำลายชาติทางอ้อมได้ (วิเชียร เกษประทุม. ๒๕๕๓: คำนำ)

การเขียน คือ การถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความต้องการ ความรู้สึกออกเป็นตัวหนังสือให้ผู้อ่านได้อ่านและเข้าใจจุดประสงค์ของผู้เขียน การเขียนทุกครั้งจึงต้องคำนึงถึงผู้อ่านเป็นสำคัญว่าผู้อ่านมีพื้นฐานความรู้ ความคิดเป็นอย่างไร จึงจะเกิดผลตามความประสงค์ ต่อจากนั้นจึงกำหนดเป็นรูปแบบวิธีการเขียน การใช้ภาษาและเนื้อหาให้เหมาะกับผู้อ่าน การเขียนจึงจะประสบความสำเร็จตามความตั้งใจ (ปรียา หิรัญประดิษฐ์.๒๕๓๐: ๑๒๙)

การเขียนจึงเป็นการแสดงความรู้ ความคิดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร

การเขียน ทำให้ผู้อ่านสามารถสร้างจินตภาพซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Imagination หมายถึง ภาพที่เกิดขึ้นในใจได้ด้วยการอ่านคำบรรยายของกวี (กาญจนา นาคสกุล. ๒๕๕๒:๓๐)

การเขียน ทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาก้าวหน้าขึ้น การเขียนจะช่วยให้ประชาชนในประเทศนั้นๆ มีนิสัยในการรักการอ่าน รักการเรียนรู้มากขึ้น เมื่อประชาชนรักการอ่าน ก็มักจะให้เกิดความคิด ปัญญา มันสมองที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นสืบไป (สุทธิชัย ปัญญโรจน์. ๒๕๕๕:๒)

จะเห็นได้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาหลายๆ ท่านได้ให้ความสำคัญกับ “การเขียน”ในแง่มุมต่างๆ ไว้อย่างน่าคำนึง การเขียนเป็นทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้ที่สำคัญมาก ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ให้เด็กไทยทุกๆ ฝ่ายควรตระหนักและไม่ควรละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ มิฉะนั้นแล้วเกรงว่ากระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งไปสู่การพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และการพัฒนาการศึกษาของประเทศอาจจะไม่ครบวงจรและขาดความสมบูรณ์ในลักษณะที่เรียกว่า“การศึกษาหมาหางด้วน” ซึ่งเป็นวาจาของพุทธทาสแห่งสวนโมกขพลารามและในที่สุดก็อาจจะส่งผลต่อคุณภาพของคนไทยและประเทศไทยในอนาคตได้ เพียงเพราะว่า “เรา หลงลืมอะไรบางอย่าง” ไปหรือเปล่า ?

อ้างอิง

กาญจนา นาคสกุล.(๒๕๕๒). ภาษาไทยชุดคำไทย. กรุงเทพฯ: อัมรินพริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

ปรียา หิรัญประดิษฐ์.(๒๕๓๐). การใช้ภาษาไทยในวงราชการ. กรุงเทพฯ: เอ็กซเปอร์เน็ท.

วิเชียร เกษประทุม.(๒๕๕๓). ภาษาไทยที่มักใช้ผิด. กรุงเทพฯ: พัฒนาการศึกษา.

สุทธิชัย ปัญญโรจน์.(กรกฎาคม ๒๕๕๕). “ประโยชน์ของการเขียนมีมากกว่าคุณคิด”, สืบค้นเมื่อ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ ,

จาก http://www.oknation.net/blog/markandtony/20

 

บทความโดย : ปพน คำแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนสาครพิทยาคาร
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต ๑๖

ผู้ชม :2093